โรงงาน 4.0 Smart Factory คืออะไร?

โรงงาน 4.0 Smart Factory คืออะไร?

โรงงาน 4.0 Smart Factory คืออะไร?
 เราเคยได้ยินคำว่าไทยแลนด์ 4.0 กันมาตลอดทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต แต่คุณรู้ไหมว่าระบบโรงงานเองก็มีคำว่า “โรงงาน 4.0” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน

แต่โรงงาน 4.0 หรือ Smart Factory คืออะไร? ประเทศไทยของเราก้าวไปถึงยุค 4.0 ในวงการอุตสาหกรรมหรือยัง วันนี้เราจะมาติดตามไปพร้อมกันค่ะ

โรงงาน 4.0 Smart factory คืออะไร?

โรงงานที่ได้ชื่อว่าเป็นโรงงาน 4.0 หรือเป็นโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) คือ การนำระบบปัญญาประดิษฐ์อัตโนมัติ (AI) และหุ่นยนต์เข้ามามีส่วนร่วมในส่วนต่าง ๆ ของโรงงาน ไม่เฉพาะแค่ในส่วนของการผลิตเท่านั้น แต่เป็นการใช้ระบบอัจฉริยะเพื่อควบคุมการทำงานในหลายระบบ เช่น ระบบควบคุมไฟฟาและแสงสว่างให้สอดคล้องกับเวลาทำงาน ระบบความปลอดภัยที่จะมีการแจ้งเตือนไปยัง รปภ. หรือส่งสัญญาณเตือนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ระบบควบคุมสภาพแวดล้อมในการทำงาน ไปจนถึงการใช้ Big data เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการนำหุ่นยนต์มาช่วยในการผลิตเพื่อลดภาระงานของแรงงานมนุษย์และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้การผลิตมากยิ่งขึ้นด้วย

ปัญหาโรงงาน Smart Factory กับแรงต่อต้านจากพนักงาน
หลายคนอาจเคยกังวลว่าหากมีการนำระบบ AI หรือหุ่นยนต์เข้ามาใช้งานแล้วจะเกิดแรงต่อต้านจากพนักงานเดิม แต่อันที่จริงทั้งแรงงานมนุษย์และ AI สามารถทำงานด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ประกอบการอย่างเราต้องสนับสนุนให้มีการฝึกอบรมพนักงานเพื่อให้สามารถใช้งานระบบ AI หรือควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์ได้ โดยให้พนักงานทุกคนในโรงงานมีส่วนร่วมกับการฝึกอบรมที่เหมาะสมกับหน้าที่ของแต่ละคน

การฝึกอบรมนอกจากจะช่วยให้พนักงานสามารถปรับตัวเข้ากับระบบของโรงงาน 4.0 ได้แล้ว ยังเป็นการเพิ่มทักษะที่จำเป็นต่อตัวพนักงานเองในอนาคตอีกด้วยค่ะ

สถานการณ์โรงงาน Smart factory ในประเทศไทย
จากผลวิจัยของสถาบันหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้ากรุงธนบุรี เผยว่า มีผู้ประกอบการร้อยละ 15 เท่านั้นที่นำระบบ AI และหุ่นยนต์มาใช้ในโรงงาน ส่วนผู้ประกอบการอีกร้อยละ 85 ที่เหลือแม้จะมีศักยภาพแต่ก็อาจต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปีในการพัฒนาไปสู่ระบบ Smart Factory

ส่วนผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน กล่าวว่า อุตสาหกรรมบางประเภทในไทยยังอยู่ในยุค 2.3-2.5 โดยเฉลี่ย บางอุตสาหกรรมอยู่ยุค 3 แล้วอย่างยานยนต์ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมแต่ละประเภทพัฒนาไม่พร้อมกันเป็นเพราะอุตสาหกรรมปลายน้ำเป็นตัวดึง ยิ่งมีการแข่งขันสูงก็ยิ่งจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

ส่วนในเรื่องของเวลาและเงินทุนในการเข้าสู่โรงงาน 4.0 ก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานของอุตสาหกรรมนั้น ๆ แต่ปัญหาหลักจะอยู่ที่ผู้ประกอบการ SME ซึ่งอาจจะยังมีข้อจำกัดว่าจะตัดสินใจยังไงในการเปลี่ยนระบบไปสู่ Smart Factory โดยผู้อำนวยการฯ แนะนำว่า การจะเป็น Smart Factory ได้ ต้องมีทั้งส่วนหน้าบ้าน ในบ้าน และหลังบ้าน อาจจะเริ่มจากการทำเป็น Low cost ก่อนก็ได้ พร้อมตรงไหนก็ทำตรงนั้นก่อน เนื่องจากใน 4 ปีหากผู้ประกอบการ SME ไม่ลงทุน จะได้รับผลกระทบด้านการแข่งขันอย่างมาก

จะเห็นได้ว่าการพัฒนาไปสู่โรงงาน 4.0 Smart Factory ไม่ใช่เรื่องไกลตัวของผู้ประกอบการโรงงานอีกต่อไป อีกทั้งยังไม่ใช่เรื่องของผู้ประกอบการเท่านั้น ยังเป็นเรื่องของทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนจากภาครัฐ สถาบันการศึกษา และสถาบันการเงิน ก็มีส่วนอย่างมากในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเงินทุนสนับสนุนเพื่อให้เกิดโรงงาน 4.0 ขึ้นในประเทศไทยค่ะ

ที่มา : https://bit.ly/2W2eulT

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้